“สองล้อ” เดินหน้าทำแผนยุทธศาสตร์ 4 ปี “โรด ทู แอลเอ 2028” สานต่อความสำเร็จ
สมาคมกีฬาจักรยานฯ เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ “โรด ทู แอลเอ 2028” สานต่อความสำเร็จในการดำเนินกลยุทธ์ตามแผนยุทธศาสตร์ “โรด ทู โตเกียว 2020” และ “โรด ทู ปารีส 2024” ในมหกรรมโอลิมปิกเกมส์ 2 ครั้งล่าสุด โดยมีเป้าหมายในการควอลิฟายโอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่แอลเอให้ได้ครบทั้ง 4 ประเภทกีฬาจักรยาน ในประเภทถนน, ประเภทลู่, เสือภูเขา และบีเอ็มเอ็กซ์
“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี ประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอฟ) และนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายในแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์โอลิมปิกเกมส์ 2 สมัย ประกอบด้วยแผนยุทธศาสตร์ “โรด ทู โตเกียว 2020” และ “โรด ทู ปารีส 2024” ซึ่งในโอลิมปิกเกมส์ 2024 นักปั่นไทยประสบความสำเร็จสามารถผ่านควอลิฟายเข้าร่วมมหกรรมกีฬามนุษยชาติ โอลิมปิกเกมส์ 2024 ได้ 3 ประเภท 6 รายการ ทั้งประเภทถนน โรดเรซบุคคลชาย, โรดเรซบุคคลหญิง และไทม์ไทรอัลบุคคลหญิง ในประเภทลู่ คีรินและสปรินท์บุคคลชาย และประเภทบีเอ็มเอ็กซ์ เรซซิงชาย ล่าสุด สมาคมฯ ก็ดำเนินแผนยุทธศาสตร์ 4 ปีข้างหน้า “โรด ทู แอลเอ 2024” ต่อเนื่องทันที
“สำหรับแผนยุทธศาสตร์เพื่อความสำเร็จจักรยานไทยในเวทีโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่นครลอสแอนเจลีส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในอีก 4 ปีข้างหน้า จะเริ่มต้นโดยใช้หมุดหมายจากมหกรรมกีฬาสำคัญในภูมิภาคเอเชีย เริ่มต้นจากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนธันวาคม 2568 จากนั้นก็จะเป็นเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 20 ที่เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2569 ต่อเนื่องด้วยการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 34 ที่ประเทศมาเลเซีย ในปี พ.ศ.2570 โดยมีเป้าหมายในการควอลิฟายโอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่ลอสแอนเจลีส ให้ได้ครบทั้ง 4 ประเภทของกีฬาจักรยาน ได้แก่ ประเภทถนน, ลู่, เสือภูเขา และบีเอ็มเอ็กซ์” พลเอกเดชา กล่าว
พลเอกเดชา กล่าวอีกว่า สำหรับเนื้อหาแผนยุทธศาสตร์โรด ทู แอลเอ ที่จะมีโครงสร้างหลักในการผสมผสานแนวปฏิบัติในการฝึกซ้อมพัฒนาศักยภาพนักกีฬา การสร้างนักกีฬาหน้าใหม่ การพัฒนาบุคลากร ไปจนถึงการส่งเข้าแข่งขันจักรยานนานาชาติในแต่ละประเภทเพื่อเก็บคะแนนสะสมคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งระบบการคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์ในกีฬาจักรยานทุกประเภท จะเน้นการเก็บคะแนนสะสมในอันดับโลกของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ หรือ ยูซีไอ เวิลด์ แรงกิ้ง เป็นหลัก
“เสธ.หมึก” กล่าวต่อไปว่า จากการทำงานอย่างหนักของสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ในรอบกว่าสิบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การดำเนินแผนยุทธศาสตร์ในโอลิมปิกเกมส์ทั้ง 2 สมัยล่าสุด ที่กรุงโตเกียวและกรุงปารีส ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์ประเทศไทย ที่สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ มีการจัดทั้งในประเภทถนน ประเภทลู่ ประเภทเสือภูเขา ประเภทบีเอ็มเอ็กซ์ กระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ปีละ 28 สนาม ส่งผลให้ได้นักกีฬาหน้าใหม่เข้ามาในเวทีการแข่งขันระดับนานาชาติในนามทีมชาติไทยเสริมกับทีมชาติไทยชุดใหญ่อย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยอมรับในวงการจักรยานนานาชาติของเอเชียปัจจุบันว่าไทยเราก็เป็นหนึ่งในชาติที่มีการพัฒนามาตรฐานกีฬาจักรยานจนทัดเทียมกับชาติมหาอำนาจอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือจีน
“นอกเหนือจากเรื่องการพัฒนาศักยภาพและสร้างนักกีฬาจักรยานหน้าใหม่ขึ้นมาทดแทนรุ่นพี่ในอนาคตแล้ว แผนยุทธศาสตร์โรด ทู แอลเอ ก็ยังจะเน้นหนักไปที่การพัฒนาบุคลากรทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ฝึกสอนในระดับรากหญ้าซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนานักกีฬารุ่นใหม่ให้ขึ้นมาสานต่อความสำเร็จของนักกีฬารุ่นพี่อย่างถูกทาง รวมไปถึงพัฒนาองคาพยพด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีการพัฒนาความก้าวหน้าตลอดเวลาเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ของกีฬาสองล้อโลกอย่างต่อเนื่องต่อไป” พลเอกเดชา กล่าวในตอนท้าย.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น